หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ

หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ

ถ้าติดตามนิตยสารหอบลูกเที่ยวอย่างต่อเนื่องจะจำได้ว่าเราเคยเล่าถึงหอฝิ่นไปบ้างเล็กน้อย แต่ด้วยรางวัลดีเด่นจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในสาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ รวมทั้งเห็นด้วยกับคำกล่าวว่า หอฝิ่นเป็นหนึ่งในนิทรรศการที่ดีที่สุดของไทยและเอเชีย ฉบับนี้เราจึงต้องขอนำเที่ยวอีกครั้ง พร้อมภาพที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะช่างภาพสื่อมวลชนเท่านั้น

หอฝิ่น

ความเป็นมา
หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเพื่อฟื้นคืนผืนป่า และฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชน โดยให้หันมาทำการเกษตรบนดอยแทนการปลูกฝิ่น พระองค์ยังมีพระราชดำริให้ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับประวัติและเส้นทางการค้าฝิ่นในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำและทั่วโลก รวมถึงให้เห็นภัยที่ตามมาจึงเกิดเป็นหอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำเปิดบริการเมื่อพ.ศ. 2545 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลและบริหารโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

กว่าจะมาเป็นนิทรรศการแห่งนี้ได้ ต้องอาศัยการค้นคว้าข้อมูลและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ดร. ชาร์ลส์ บี เมห์ล ที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงใช้เวลาค้นคว้าประวัติของฝิ่นอยู่ 9 ปี มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกาสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับฝิ่นซึ่งบันทึกไว้ใไมโครฟิล์มถึง 1 แสนหน้านอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคโพ้นทะเลของประเทศญี่ปุ่นถึง 358 ล้านบาท

หอฝิ่น

หอฝิ่น

อุมงคมุข (Entrance)

แค่ทางเข้าก็ชวนตื่นเต้นแล้ว เพราะต้องเดินผ่านอุโมงค์แห่งกาลเวลาเป็นทางยาวร้อยกว่าเมตรเจาะเชื่อมจากตึกรับรองด้านหน้าทะลุภูเขาไปจนถึงตึกนิทรรศการ ให้ความรู้สึกคล้ายย้อนเวลากลับไปในยุคฝิ่นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เมื่อพ้นอุโมงค์แล้วก็พบทุ่งฝิ่นจำลอง ก่อนจะเข้าสู่ห้องโสตทัศนศึกษาฉาย VTR เล่าถึงที่มาและเรื่องราวที่กำลังจะได้พบในหอฝิ่น

หอฝิ่น

หอฝิ่น

มีดสองคม (Light and Dark Hallway)
ทางเดินเข้าสู่นิทรรศการประกอบไปด้วยผนัง 2 ด้าน ฝั่งหนึ่งแสดงให้เห็นด้านดีของฝิ่นคือ ใช้เพื่อการรักษาในทางแพทย์ บรรเทาอาการเจ็บปวด
ส่วนอีกฝั่งคือด้านร้าย ทุกข์จากการเสพติด

หอฝิ่น

หอฝิ่น

ประจิมสู่บูรพา (From West to East)
ห้องนี้เราจะได้เรียนรู้ว่าฝิ่นเข้ามาสู่เอเชียได้อย่างไร ผ่านบรรยากาศท่าเรือพาณิชย์ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างอังกฤษและเอเชีย ดินแดนตะวันออกมั่งคั่งไปด้วยสินค้าชั้นดีอย่างใบชา ผ้าไหม เครื่องเทศจึงทำกำไรมหาศาล ในขณะที่ฝั่งยุโรปขายสินค้าให้ชาติตะวันออกได้
น้อยกว่า ทำให้เกิดการขนส่งฝิ่นมายังอินเดียและจีนหวังลดการขาดดุล

หอฝิ่น

หอฝิ่น

สงครามฝิ่น (Opium War)
เมื่ออังกฤษบังคับให้จีนเปิดประตูการค้าเสรีและนำเข้าฝิ่นเป็นจำนวนมาก คนจีนกว่า 13 ล้านคนติดฝิ่นจนราชวงศ์แมนจูและเศรษฐกิจล่มสลาย ในห้องนี้เราจะเห็นบุคคลสำคัญของจีนและอังกฤษที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามฝิ่น รวมถึงเหตุการณ์สำคัญคือการเผาทำลายฝิ่น และการเผาพระราชวังฤดูร้อน

หอฝิ่น

หอฝิ่น

ฝิ่นในสยาม (Opium in Siam)
ต่อจากนั้นคือห้องจำลองบรรยากาศของประเทศสยาม ในยุคที่คนจีนที่ทำมาหากินอยู่ในสยามได้รับอนุญาตให้สูบฝิ่นได้ แต่ต้องไปสูบที่โรงฝิ่น สภาพร่างกายคนเหล่านั้นอิดโรยผ่ายผอม จากที่เคยมั่งมีก็กลายเป็นยาจก มีส่วนจัดแสดงกล้องสูบฝิ่นทำจากวัสดุต่างๆ ตั้งแต่ไม้ไผ่ไปจนถึงงาช้าง หมอนสำหรับหนุนศีรษะนอนสูบฝิ่น ลูกเป้งซึ่งใช้เป็นตุ้มชั่งน้ำหนักเวลาซื้อขายฝิ่น นอกจากนี้ยังมีวิดีทัศน์แสดงการกรีดยางและเคี่ยวฝิ่น

หอฝิ่น

กรณีศึกษา (Case Studies)
นอกจากห้องแสดงผลร้ายของยาเสพติดแล้วยังมีเรื่องราวชวนสะเทือนใจจากครอบครัวผู้ติดยาเสพติด จากเด็กสาวที่ควรจะเดินตามความฝันเหมือนเพื่อนในวัยเดียวกัน กลับต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง บางครอบครัวก็ช่วยกันแก้ไขจนผ่านพ้นได้ แต่โชคร้ายสำหรับบางครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิกไป เหลือแต่เพียงเรื่องราวไว้เป็นอุทาหรณ์

จุดประสงค์ของหอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ คือเป็นสถานศึกษาสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกโดยเฉพาะเยาวชน ให้ตระหนักถึงปัญหา
ยาเสพติดแม้ว่าเราหรือคนในครอบครัวจะไม่ได้ติดยา เด็กๆ จะเข้าใจได้ง่ายจากภาพจำลองที่เห็นนับว่าคุ้มค่ามากที่จะเดินทางมาเยือน

ที่ตั้ง

หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ
ถ.เชียงแสน เชียงราย
พิกัด N20.364753 E100.073722
โทรศัพท์ 0-5378-4444 ถึง 6
เวลาทำการทุกวัน เว้นวันจันทร์ 8.30-16.00 น.
อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 12-18 ปี 50 บาท เด็กต่ำกว่า 12 ปีไม่เสียค่าเข้าชม
หมายเหตุ: ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปถ่ายภาพภายในห้องนิทรรศการ