ทำนากับครูธานี ที่บ้านหอมชื่นปทุมธานี เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาไทย

ทำนากับครูธานี ที่บ้านหอมชื่นปทุมธานี เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาไทย ได้ลองขี่ควายครั้งแรกในชีวิต ตกกลางวันเดินท่อมๆ เก็บผักบุ้งในแปลงมาล้างมาผัด กินคู่กับไข่เจียวร้อนๆ พอบ่ายไต่ต้นมะพร้าว พายเรือ หัดยิงหนังสติ๊กกระสุนดิน แล้วไถตัวจากคันนาลงจมดินเพื่อปักกล้า เด็กบ้านนาเขาสนุกหมดวันกันอย่างนี้นี่เอง

คุณครูธานี หอมชื่น

ครุศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทิ้งการทำงานในเมือง พาครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และหว่านล้อมให้คุณพ่อมนัสช่วยกันสร้างสวรรค์บนดินให้กับเด็กๆ ครอบครัวหอมชื่นมีที่นาอยู่ 25 ไร่ ปลูกข้าวกินบ้างขายบ้าง อยู่อย่างพอเพียงไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่จะเรียกว่าเป็นจิตสำนึกแห่งความเป็นครูก็ว่าได้ ที่ครูธานีสละเวลาและพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อปลูกฝังเด็กๆ ให้รู้จักวิถีชาวนาและคุณค่าของเมล็ดข้าว

9 โมงเช้า

เราเริ่มต้นกิจกรรมเมื่อพร้อมหน้า ครูธานีเรียกเด็กๆ มานั่งล้อมวงใต้ถุนเรือนไทยที่ยกสูงจนลมโกรกเย็นสบาย “ที่นั่งกันอยู่นี่ เขาเรียกใต้ถุนเรือนรู้ไหม ถ้าน้ำท่วม บ้านครูไม่เป็นอะไรเพราะครูก็ขนของหนีขึ้นไปบนบ้าน” ครูเริ่มต้นให้ความรู้เรื่องเรือนไทยพร้อมชี้ให้ดูเสาเอกและเสาโท หลังจากแนะนำตัวกันเรียบร้อย ครูธานีก็พาเด็กๆ ไปดูการฟาดข้าวเพื่อให้เมล็ดหลุดจากรวง หลังจากนั้นนำเมล็ดที่ได้ไปใส่ในเครื่องสีฝัด กระเทาะให้เปลือกหลุดออกมา แต่ถ้าเด็กๆ อยากออกแรงเหมือนสมัยโบราณล่ะก็ โน่นเลย…มีครกตัวใหญ่ให้ช่วยกันตำ ข้าวที่ได้เอาไปทำอะไรได้อีกรู้ไหม ใส่หินโม่แป้งตัวเขื่องหมุนๆ ออกมากลายเป็นแป้งข้าวเจ้าไว้ทำขนมไง

เสร็จจากฝัดข้าว มาล้อมวงกันใต้ต้นมะม่วง ปั้นดินเหนียวเป็นลูกกระสุนกลมๆ แล้วตากแดดทิ้งไว้ ระหว่างคอยดินเหนียวแห้ง ไปเดินเก็บผักสวนครัว ทั้งคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว และแตงกวาลูกโตๆ ซ่อนตัวใต้ใบเขียว เจ้าตัวเล็กตัวน้อยลุยเข้าไปในแปลงแข่งกันมองหา แผลบเดียวหิ้วใส่ถุงเป็นกิโล คุณพ่อช่วยกันล้างดินออกจากผัก เด็กๆ ต่อยไข่ใส่ชาม เจียวแล้วส่งให้คุณแม่ช่วยเทลงในกระทะ ป้าแม่ครัวที่มาช่วยงานครูมนัสยกไก่ทอดกับแกงจืดฟักหวานอร่อยมาเพิ่มเติม นี่ยังไม่นับส้มตำไทยไม่ใส่พริกที่ป้าหน่อยแม่น้องว่านช่วยตำให้อีกหลายจานนะนี่ อิ่มแปล้พุงกางกันถ้วนหน้า

หลังอาหารเที่ยง

เด็กๆ ช่วยกันล้างจานชาม แป้งข้าวเจ้าที่โม่ได้เอามานวดผสมกับแป้งมันให้เด็กๆ ช่วยกันปั้นช่วยกันกดบนพิมพ์ ออกมาเป็นขนมครองแครงเตรียมไว้สำหรับเป็นของว่างยามบ่าย แต่ถ้ายังไม่ได้เล่นเหนื่อยคงยังกินขนมไม่ได้ เด็กๆ เลยต้องไปออกกำลังตามฐานกิจกรรมที่สนามหลังเรือนไทย เลือกกันได้ตามสบายตั้งแต่ไต่เชือกหรือเดินสะพานไม้ไผ่ จะปีนมะพร้าวก็มีอุปกรณ์นิรภัยเป็นกะลากันน็อคและเชือกร้อยรอบเอว รับรองว่าถ้าพลาดตกมาก็ยังห้อยต่องแต่ง ไต่ครบแล้วไปพายเรือ หรือถ้าเหนื่อยนัก แวะกินหวานเย็นน้ำแดงน้ำเขียวจากถังปั่นมือคนละแท่งสองแท่ง สำหรับผู้ใหญ่น้าเบียร์แนะนำรสชานมค่ะ อร่อยเหลือใจ

‘รถกระแทะ’

หน้าตาประหลาดพอกับชื่อ ดัดแปลงมาจากรถไถแล้วพ่วงที่นั่งสองแถวไว้ท้ายรถ พาเด็กๆ วนดูแปลงนาชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงคนละรอบ กลับมาถึงพอดีดินกระสุนที่ปั้นไว้เมื่อเช้าแห้งพอดี หัดยิงให้โดนกระป๋องนมที่ห้อยเรียงรายใต้ต้นมะม่วงกันสนุก

บ่าย 3 โมง

ครูธานีจูง ‘วาสนา’ มาเป็นพรีเซนเตอร์ควาย ไม่เพียงแต่เด็กๆ จะได้รับความรู้ใหม่นะคะ น้าเบียร์ก็เพิ่งจะรู้เหมือนกันว่า ควายไทยที่ใช้ไถนานั้น ทุกตัวจะต้องมีขนสีขาวใต้คอเป็นรูปตัววีคล้ายสร้อย มันชอบกินใบขนุน ใบไผ่ หญ้าแฝก กล้วย หรือแม้แต่ใบมะม่วงที่เด็กๆ ไปยื่นให้มันยังกินเลย รู้จัก ‘วาสนา’ อย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จักส่วนประกอบของคันไถด้วยค่ะ พอถึงตรงนี้ครูธานีใจดี ให้เด็กๆ ได้ลองขี่ควายและนั่งในกาบหมากให้วาสนาลากไปรอบๆ สนามด้วย

คราวนี้มาถึงตอนที่เด็กๆ รอคอย ก่อนจะลงมือดำนา ครูธานีสาธิตวิธีปักต้นกล้า ไม่ใช่ว่ากำต้นปักลงไปในดินเฉยๆ แต่ต้องใช้นิ้วหนึ่งนำ นิ้วหนึ่งกลบดินตามหลัง ไม่อย่างนั้นต้นข้าวจะล้มได้ เมื่อเด็กๆ รู้วิธีทำแล้วก็ไถตัวจากคันนาลงไปในบ่อโคลนที่ครูธานีให้เด็กชาวบ้านแถวนั้นมาช่วยย่ำไว้ก่อนแล้ว ดินจึงนิ่มและเละได้ที่ ไปๆ มาๆ ข้าวเขิ้วไม่ได้ปักกันแล้ว เล่นสไลเดอร์ตูมลงโคลนแล้วโผล่มาแต่คอนี่สนุกสุดค่ะ อาบน้ำอาบท่าเสร็จแล้ว กางเกงในสีขาวที่ใส่ลงนาถึงกับต้องทิ้งไปเลย

4 โมงกว่าๆ

สบายเนื้อสบายตัวแล้ว มีของว่างเป็นครองแครงน้ำกะทิ ก็ที่เด็กๆ ช่วยกันปั้นไว้เมื่อกลางวันนั้นล่ะ ตัวใหญ่ๆ เค็มๆ (ขี้มือ…หรือเปล่าเนี่ย) บ้างก็ไปเดินไม้ไผ่ต่อขาที่เป็นของเล่นเด็กไทยแบบโบราณ บ้างก็นอนเปล บ้างไกวชิงช้า ก่อนมารวมตัวกันเล่นเกมเล็กๆ น้อยๆ กับครูธานีที่สนาม ยกมือไหว้ลาครูก่อนกลับบ้าน หมดวันเร็วเกินไปจริงๆ

ข้อมูลติดต่อครูธานี

มาเที่ยวบ้านครูธานีต้องนัดหมายกันมาเป็นหมู่คณะ ประมาณ 15 – 30 คน (นับรวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่) เนื่องจากครูมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างแม่ครัวและคนช่วยงานแบบเหมาวัน จึงไม่สามารถรองรับการมาเยือนทีละครอบครัวได้ค่ะ  โทรศัพท์ 02-976-2064, 085-930-4216

ข้อมูลการเดินทาง

บ้านหอมชื่น ตั้งอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

Map_Kru_Thanee2

Travel Tips

กลับจากบ้านครูธานีตอน 5 โมง อาหารเย็นวันนั้น น้าเบียร์แนะนำร้านอาหาร ‘บ้านเหนือน้ำ’ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลปทุมธานี ระหว่างทางกลับเข้ากรุงเทพ นอกจากอาหารอร่อยแล้ว ยังมีคุณลุงใจดีเดินถือกีตาร์ร้องเพลง และแสดงมายากลไปตามโต๊ะเป็นที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะตอนไฟลุกจากกระเป๋าตังค์นี่…เด็กๆ ตาโตกันทุกคนค่ะ
บ้านเหนือน้ำ โทร. 02-978-0966