ศิลปะปั้นทราย ฉะเชิงเทรา

หอบลูกเที่ยวแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา นมัสการหลวงพ่อโสธรในวิหารงามสีเงินอมเทา ก่อนไปดูศิลปะปั้นทรายที่สวยไม่อายฝรั่ง กลางวันอิ่มอร่อยในตลาดเก่าแก่แต่ชื่อว่า?บ้านใหม่? เรือนแถวไม้ริมน้ำที่ขายขนมมาตั้ง 100 ปี ช่วงบ่ายสบายอารมณ์กับกิจกรรมนวดๆ ปั้นๆ เรียนวิธีเปลี่ยนดินเป็นแจกัน ถ้วย ชาม ที่คุ้มวิมานดิน

เที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับสำหรับวันอาทิตย์นี้ ขับรถจากกรุงเทพสบายๆ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็ถึงวัดโสธรวรารามวรวิหาร สักการะพระพุทธรูปหลวงพ่อโสธรอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมิ่งขวัญของจังหวัด ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อที่ว่า เป็นพระพุทธรูปที่ลอยตามน้ำมานั้น ทำเอาเด็กๆ ตาโตโอ้โหกันใหญ่ ทำไมพระลอยน้ำมาได้ ชาวบ้านตั้งหลายคนฉุดเท่าไรก็ไม่ขึ้นจากน้ำ ต้องทำพิธีบวงสรวงเอาสายสิญจน์คล้องพระหัตถ์แล้วกล่าวอัญเชิญเทวดาอาราธนา ท่านจึงลอยขึ้นมาบนตลิ่งและประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งนี้ ชาวบ้านพากันมากราบสักการะขอพร เมื่อสำเร็จตามที่อธิษฐานไว้แล้วมักจะแก้บนด้วยไข่ต้มและรำละครชาตรี

ใกล้ๆ กับวัดหลวงพ่อโสธรและไม่ไกลจากคาร์ฟูร์ เป็นสถานที่จัดแสดงงานประติมากรรมปั้นทรายโลก ครั้งแรกเป็นนิทรรศการชั่วคราว จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระชนม์ครบ 80 พรรษา ในครั้งนั้นศิลปินจากนานาประเทศรวมถึงช่างปั้นของไทย ต่างพากันแสดงฝีมือการปั้นทรายไว้กว่า 30 ผลงาน ปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวถาวร ยังคงมีผลงานเก่าหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ อย่างหอไอเฟล หอนาฬิกาบิ๊กเบน กำแพงเมืองจีน หรือตัวละครจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ส่วนผลงานใหม่เช่น เรือสุพรรณหงส์ พญานาค 7 เศียร หรือปราสาทพระวิหารนั้นงดงามละเอียดอ่อนไม่แพ้กัน ผลงานทั้งหมดจัดแสดงในร่ม บางส่วนอยู่ในห้องปรับอากาศเพราะมีแสงสีประกอบ เด็กๆ จึงดูเพลินได้นานโดยไม่บ่นว่าร้อนค่ะ

ขับรถต่อมายังตลาดบ้านใหม่ ถ้านับจากสมัยรัชกาลที่ 5 มาก็ 100 ปีกว่าแล้วที่ชุมชนไทย-จีนแห่งนี้ทำมาค้าขายกัน คุณย่าของเด็กๆ เล่าว่า สมัยที่คุณย่ายังเด็ก คุณยายทวดพาหนีสงครามโลกครั้งที่ 2 จากบางกอกมาอาศัยในแพริมแม่น้ำบางปะกงที่แปดริ้วอยู่นาน แต่คุณย่าจำไม่ได้ว่าเคยมาเดินตลาดบ้านใหม่นี้หรือเปล่า ถึงอย่างไร ตลาดนี้ก็คงเปลี่ยนไปมาก จากที่สัญจรกันทางเรือก็กลายเป็นต้องขับรถไปจอดไว้ใต้สะพานรถไฟแล้วเดินมา บางคนมาทางเรือก็จริง แต่ไปจอดรถที่วัดโสธรแล้วลงเรือที่ท่าน้ำหลังวัดนั่งมาที่นี่อยู่ดี

บรรยากาศในตลาดชวนให้นึกถึงอดีต ด้วยความพยายามอนุรักษ์ตลาดให้อยู่ในสภาพเดิมแต่สะอาดสะอ้าน มีร้านขายขนมไทยโบราณ ตั้งแต่ถุงทอง ขนมถ้วย ขนมตาล ไปจนถึงขนมของคนจีนอย่างกุยช่าย ขนมเปี๊ยะ หากเดินข้ามสะพานแคบๆ ขึ้นไปตลอดระยะ 3-4 ร้อยเมตร มีแต่ร้านของกิน ของใช้ ของเล่นและขนมเด็กอย่างเซียงจา (พุทราแผ่น) กับหมากฝรั่งตราแมว ร้านก๋วยเตี๋ยว ส้มตำและกาแฟโบราณก็มีให้เลือกนั่งซึมซับบรรยากาศริมน้ำอยู่หลายร้าน แต่เราเลือกฝากท้องมื้อกลางวันที่ร้านป้าหนู นอกจากกุ้งแม่น้ำกับปลากะพงทอดน้ำปลาแสนอร่อยแล้ว ยังมีข้าวผัดปูให้เด็กๆ ด้วย

ออกจากตลาดบ้านใหม่ต้องขับรถไปไกลหน่อย ราวๆ 20 นาทีกว่าจะถึง ?คุ้มวิมานดิน? ที่อำเภอคลองเขื่อน แต่ก็คุ้มค่า เพราะได้สูดอากาศบริสุทธิ์เสียชุ่มปอด ในพื้นที่กว้างใหญ่ร่มรื่นด้วยแมกไม้ มีบ้านดินให้เดินชม มีมะม่วงมันให้เอร็ดอร่อย มีมุมกาแฟในนอนเอกเขนก ที่สำคัญมีโรงปั้นดินกับคุณครูใจดีคอยสอนวิธีปั้นตุ๊กตุ่น น้าเบียร์ก็เพิ่งรู้พร้อมเด็กๆ นี่ละว่า ถ้วยกลมๆ หรือพุงป่องๆ ของมังกร เริ่มจากดินเหนียวปั้นเป็นเส้นเหมือนงูแล้วขดให้วนไปเรื่อยๆ

คุ้มวิมานดินเป็นแหล่งผลิตหัตถกรรมดินเผาชุมชนค่ะ นำดินเหนียวซึ่งเป็นดินในพื้นที่และทำการเกษตรไม่ค่อยได้ผลดีนักมาผลิตผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์ ถึงขนาดเคยนำให้สมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรและได้รับเลือกให้ไปจำหน่ายที่ร้านภูฟ้าโครงการหลวงมาแล้ว ก็ดูตุ๊กตาหญิงอ้วนแต่ละนางสิคะ ยื่นปากจู๋มหาเสน่ห์จนเราต้องขำตาม

กลับบ้านเย็นนั้น เด็กๆ ถืองานปั้นหนึ่งเดียวในโลกติดมือมาคนละชิ้น ไม่ทันได้นำเข้าเตาเผากับเขาเพราะถ้าจะเผาต้องมารับวันรุ่งขึ้น แต่เอามาผึ่งแดดผึ่งลมที่บ้านทิ้งไว้ก็แข็งแรงดีเพียงแค่สีไม่สวยเท่ากับงานเผา เพลิดเพลินและสุขใจทั้งครอบครัว

ข้อมูลการเดินทาง

ปั้นทรายโลก
โทรศัพท์ 0-3851-5130

คุ้มวิมานดิน
โทรศัพท์ 08-7825-1338, 08-1866-8700
www.koomwimarndin.com