ตะวันยิ้ม…ริมโขง

ปีนี้ฝนมาล่าแถมมาน้อยเสียจนเสียงจากหัวใจกระซิบสั่งรัวๆ ให้เก็บเสื้อผ้าออกเดินทางกันเถอะ อิชั้นเป็นคนหูเบาเชื่อง่าย เช้าวันนี้ก็เลยนั่งกินไข่กระทะฉบับบออริจินอลอยู่ที่จ.อุบลราชธานีแล้วค่ะ

แวะเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อำเภอโขงเจียม ที่มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่านไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะมีสายน้ำเชี่ยวและลึก ทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง ว่ากันว่าเป็นเหตุให้บริเวณนี้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม เราจะเห็นเรือชาวประมงจอดเรียงรายหาปลาอยู่มากมาย ค่ำนี้จึงกอดคอพากันไปนอนหลับสบายที่หาดวิจิตราริมแม่น้ำโขง

พอเช้ามืดเราออกมาทักทายความเย็นนอกผ้าห่มผืนหนา เด็กๆ ไม่ลืมคว้าเสื้อหนาวตัวอุ่นติดไปด้วย เราจะไปที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นอุทยานแห่งแรกที่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว แนวเขตยาวที่สุดนี้ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ทางฝั่งลาวได้มุมกว้างมาก จากหาดวิจิตรานั่งรถราว 20 นาทีก็ถึงแล้วค่ะ เดินฝ่าลมเย็นๆ ไปที่ริมหน้าผา ตรงนี้เป็นตะวันออกสุดของประเทศไทยเราก็เลยจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใคร เอาไว้อวดเกทับเพื่อนค่ะ (พร้อมยิ้มนิดๆ มุมปากด้วยนะ) แม่ขี้อวดตอบข้อสงสัยของลูกๆ ที่ถามว่าทำไมเราต้องมาเห็นก่อนใครด้วยคะแม่

พอแดดเริ่มอุ่นสบายเราก็เดินเลาะผาแต้ม พาเด็กไปรู้จักกับสิ่งที่คุณครูเพิ่งสอนมา นั่นก็คือภาพเขียนสีโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี วาดเรียงรายอยู่ตามความยาวของหน้าผาติดต่อกันประมาณ 180 เมตร มีมากกว่า 300 ภาพ ถือเป็นภาพเขียนสีโบราณมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศไทยและในต่างประเทศ ลักษณะของภาพแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาพคนทำนา ภาพสัตว์ ภาพมือ ภาพลายเรขาคณิต และภาพตุ้ม (เครื่องมือจับปลาของชาวประมงบริเวณแม่น้ำโขง)

ออกจากผาแต้มราว 3 กิโลเมตร ก็จะเห็นเสาหินธรรมชาติซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของน้ำและลมนับล้านปี มีลักษณะคล้ายดอกเห็ดเรียงรายกันอยู่มากมาย เพ่งดีๆ จะเห็นซากเปลือกหอย กรวด ทราย อยู่ในเนื้อหิน นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเมื่อประมาณล้านกว่าปีมาแล้ว บริเวณนี้คงจะเป็นทะเลมาก่อน ชาวบ้านบริเวณนี้เรียกเสารูปร่างคล้ายดอกเห็ดเหล่านี้ว่าเสาเฉลียง ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ‘สะเลียง’ ที่หมายถึง ‘เสาหิน’ นั่นเองที่หาดวิจิตราริมโขงฝั่งไทยนั้น ช่วงหน้าร้อนน้ำลด ทำให้บริเวณนี้มีหาดทรายที่แห้งขาวละเอียดเนียนนุ่ม และเมื่อมีแสงส่องกระทบถึง มองดูราวกับมีใครแอบมาทำกากเพชรหกเรี่ยราดไปทั่วหาด ส่วนในแม่โขงก็จะเห็นเกาะแก่งโผล่พ้นน้ำมากมายดูสวยงาม พอเข้าหน้าฝนน้ำจะขึ้นเต็มที่จนเอ่อล้นกลายเป็นน้ำตกไหลจากหน้าผาฝั่งลาว โดยมีฉากหน้าเป็นหมอกจางๆ และบางปียังสามารถเห็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นจากตรงนี้อีกด้วย

ช่วงฤดูหนาวที่นี่อากาศค่อนข้างเย็น พาเด็กๆ นั่งเรือหางยาวออกไปดูวิถีชาวบ้านสองฝั่งไทยลาวที่ส่วนใหญ่มีอาชีพประมง อย่าลืมเงยหน้ามองผาแต้มในมุมที่ต่างจากเมื่อวาน ฟังเสียงนกหายากที่อพยพมาในช่วงเวลานี้ ช่วงไหนที่หาดทรายน้ำไม่ขึ้นมากก็แวะให้เด็กๆ ย่ำโคลนเล่น พากันหัวเราะสนุกดังไปถึงฝั่งลาวโน่น?ปลายปีที่หาดวิจิตรายังมีปรากฏการณ์ตะวันอ้อมโขงให้เราได้เห็นกันอีกด้วย ปกติพระอาทิตย์จะขึ้นและตกคนละฝั่งกันใช่ไหมคะ แต่ช่วงนี้พระอาทิตย์จะทั้งขึ้นและตกที่ฝั่งประเทศลาวเหมือนกันในองศาที่ใกล้ๆ กันด้วย ถ้าลากเส้นจากตำแหน่งที่พระอาทิตย์ขึ้นไปหาจุดที่พระอาทิตย์ตกจะดูคล้ายรอยยิ้ม จนบางทีเรียกว่าตะวันยิ้ม ช่วงเวลาที่ตะวันอ้อมโขงแคบที่สุดของปีนี้จะอยู่ราววันที่ 14-15 ธันวาคม เท่านั้นยังไม่พอธรรมชาติยังจัดโปรโมชั่นเสริมให้อีก นั่นก็คือเราจะได้เห็นปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่คำนวณแล้วว่าดาวจะร่วงหล่นจากฟ้าชั่วโมงละเป็นร้อยดวงเลยทีเดียว ถ้าไม่เชื่อโทรไปสอบถามพี่กิติภพ สิมมาตา ผู้ตั้งชื่อให้ตะวันอ้อมโขง ที่หมายเลข 08-4437-1837 ได้เลยค่ะ

พวกเรากำลังนอนซุกตัวในผ้าห่มกลางสนามโล่งอันมืดมิดไร้แสงจากไฟฟ้า เด็กๆ แหงนหน้ามองฟ้ากว้าง พากันนับดาวตกดวงแล้วดวงเล่าด้วยความตื่นเต้น….และผล็อยหลับไปใต้แสงดาวที่ยังเหลืออยู่เต็มฟ้านั่นเอง