คุยกับครูชีวัน วิสาสะ นักเขียนเรื่อง วาดภาพประกอบ และเล่านิทาน

ครูชีวันเริ่มต้นเป็นครูสอนศิลปะ หลังจากนั้นก็วาดรูปแต่งนิทาน สร้างสรรค์เขียนบทละครให้กับสโมสรผึ้งน้อย มีผลงานเขียนเรื่องและวาดภาพประกอบสำหรับเด็กให้สำนักพิมพ์เกือบทุกสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือสำหรับเด็ก เช่น อีเล้งเค้งโค้ง คุณฟองนักแปรงฟัน น้องส้มโอกับพี่หลอดไฟ บางเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศเช่นคุณตาหนวดยาว มดสิบตัว ปัจจุบันนอกจากเขียนนิทานแล้วยังได้รับเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเล่านิทาน

อยากทราบทัศนคติของครูเรื่องเด็กกับหอศิลป์

ความเป็นหอศิลป์ ส่วนใหญ่เป็นที่แสดงผลงานของศิลปิน สำหรับผู้ที่สนใจศิลปะ ชอบดูงานศิลปะ เพราะฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายก็ไม่ใช่เด็ก เขาจะคิดถึงเด็กหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เท่าที่ดูมาก็ไม่ได้ตอบสนอง แม้ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่เองก็ตาม น้อยแห่งที่จะคิดถึงเด็ก หรือแม้จะคิดถึงก็ไม่มีวิธีจัดการหรือรู้ว่าจะออกแบบยังไงให้เนื้อหาที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สื่อสารกับเด็กได้ มันต้องออกแบบวิธีการสื่อสาร ไม่ใช่แค่ตั้งแล้วให้เด็กไปเห็น ต้องนึกถึงการเรียนรู้โดยธรรมชาติของเด็ก?นิทรรศรัตนโกสินทร์เขาก็พยายาม สร้างรูปแบบที่มันจูงใจแต่ในแง่กับเด็ก ก็ต้องมองให้ละเอียดลงไปว่ามีปฎิสัมพันธ์ยังไงกับเด็ก ย้อนมาที่หอศิลป์ คงต้องพูดโยงไปโยงมาระหว่างหอศิลป์กับพิพิธภัณฑ์เพราะว่าสองอย่างนี้คงไม่ต่างกันมากนัก อย่างที่บอกว่าจุดประสงค์ไม่ได้ทำเพื่อเด็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเด็กดู พอเด็กไปดูแล้วจะยังไง ปัญหาคือพ่อแม่ไม่มีความรู้ ไม่รู้จะแนะนำเด็กยังไง คือถ้าไม่กระทันหันเกินไป พ่อแม่ก็อาจจะต้องหาความรู้เตรียมตัวเองทำการบ้านก่อน หรือว่ากระทันหันจับพลัดจับผลูเข้าไปดูสักหน่อย เราไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับศิลปินหรือศิลปะมากมาย แต่ขอให้เชื่อว่าในตัวของคนเรามีศิลปะนิสัย มีพื้นฐานที่เป็นสุนทรีย์ มีอารมณ์ความรู้สึกอยู่ในตัว

เมื่อไปพบเห็นภาพต่างๆ ประสาทสัมผัสก็จะทำงาน อย่าเพิ่งตั้งคำถาม คำถามมาทีหลัง การตั้งคำถามก่อนบางทีเป็นการตัดตอนการเสพสุนทรียะ คืออะไรทายสิ เวลาเราไปดูภาพ?สวยหรือเปล่า? คำว่าสวยนี่อย่าเพิ่งมา ถ้าเด็กถามเองไม่เป็นไร แต่ผู้ใหญ่ต้องรู้เบื้องต้นว่าคำว่าสวย หรือไม่สวยคืออะไร มันเป็นเรื่องยากแต่เข้าใจได้ง่าย อย่างงนะ สวยหรือไม่สวยอยู่ที่ประสบการณ์ รสนิยม การสั่งสม บางคนดูงานแล้วรู้สึกว่าสวยเพราะคนๆ นั้นมีความรู้ หรืออาจจะไม่มีความรู้เลยก็ได้ คือคนที่ดูด้วยความรู้ก็จะมีการวิเคราะห์ แต่คนที่ไม่มีความรู้ก็อาจจะรู้สึกสวยเพราะถูกจริต เป็นความชอบ เพราะมันสะดุดตา ฉะนั้นความสวยมันไม่ใช่มาตรฐานเดียวกัน ถึงบอกว่าคำว่าสวยเอาไว้ก่อน ดูไปแล้วเรารู้สึกยังไงในแง่อารมณ์ เปิดประสาทสัมผัสก่อนแล้วค่อยดูให้ละเอียด เขาวาดรูปอะไร สมองมันจะเริ่มทำงานแล้วคิดเชื่อมโยง พอเริ่มดูออกก็จะสนุกแล้วเหมือนเราไปดูจิตรกรรมฝาผนัง เข้าไปแล้วกวาดตามองทั้งโบสถ์ 360 องศาหมุนไปรอบเดียวเรารู้เรื่องไหม ผนังโบสถ์ทั้งหมดคือภาพหนึ่งภาพแต่ถูกคลี่ออก เราไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ในขณะที่เราหมุน 360 องศา ดังนั้นเราต้องไปดูแต่ละกรอบหน้าต่างแต่ละช่อง ไปดูแต่ละช่องเราก็ไม่รู้อีกว่าคือเรื่องอะไรถ้าไม่มีพื้นฐาน ฉะนั้นเราก็อาจจะต้องไปดูในรายละเอียด ศิลปินเขาอาจจะแอบใส่อะไรที่มันเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันเด็กรู้ผู้ใหญ่รู้ บางทีมันมีรูปสัตว์ ต้นไม้ หรือกิจวัตรประจำวันที่เราดูแล้วรู้ ตรงนี้ถือว่าเราเริ่มทำความรู้จักกับงานศิลปะนั้นแล้ว หลังจากนั้นเราค่อยไปหาความรู้ว่านี่คือจิตรกรรมฝาผนังตอนอะไร เรื่องราวเป็นอย่างไร กล่าวถึงใคร ความรู้ก็จะตามมาแต่ถ้าเป็นงานศิลปะในหอศิลป์ พอเราดูจุดย่อยๆ แล้ว เราค่อยไปหาความรู้โดยลองไปดูว่าใครวาด เขาตั้งชื่อว่าอะไร อธิบายแนวคิดว่ายังไง แต่ที่เรารู้สึกกับที่ศิลปินอธิบายแนวคิดอาจจะไม่ตรงกันก็ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะงานศิลปะนี่คนสร้างประดิษฐ์ขึ้นมาบนฐานความคิดอย่างหนึ่ง ตอบสนองในขณะที่เขาแก้ปัญหาด้านเทคนิค แต่พองานเสร็จแล้วก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ดูตีความ จะคล้อยตามหรือขัดแย้งก็แล้วแต่ ทำให้เกิดกระบวนการคิดโดยอาศัยงานศิลปะนั้นเป็นสื่อ

การที่เราพาเด็กไปหอศิลป์สำหรับผู้ใหญ่จะเกินวัยของเขาไปหรือเปล่า
ไม่เกิน ควรให้เด็กได้มีประสบการณ์ เพราะนอกจากรูปลักษณ์ สัญลักษณ์ สีสัน เนื้อหาแล้ว ยังมีเรื่องของเทคนิค วัสดุ ซึ่งเด็กไปดูเขาอาจจะคิดอะไรบางอย่างได้ เขาอาจจะเอาวัสดุพื้นๆ กะละมัง ถ้วยอะไรมาต่อกัน เด็กเห็นแล้วไม่รู้ว่าเป็นเรื่องราวอะไรแต่เขาอาจจะได้แรงบันดาลใจ
ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นรูปวาดอย่างเดียว เดี๋ยวนี้หอศิลป์มักจะแสดงงานที่ผสมผสานกันทั้ง จิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม เด็กอาจจะดูแล้วรู้สึกอย่างเดียวก็ได้ น่ากลัวจังเลย ถือว่าเกิดอารมณ์ที่ตอบสนองต่อภาพ การขัดเกลาความคิดอารมณ์สุนทรียะมันจะเกิดขึ้นตรงนี้ ทั้งชอบ ไม่ชอบ กลัวหรือซาบซึ่ง ศิลปะมันจะเป็นตัวทำให้สิ่งเหล่านี้กระเพื่อมทำงานขึ้นมา แต่ถ้าเราไปคิดว่าเด็กจะต้องไปดูงานเด็กๆ อย่างเดียว ฟังเพลงเด็กๆ เล่นของเล่นแบบเด็กๆ มันก็ไม่ก้าวไป กลายเป็นแค่ความคุ้นเคย บางทีดูอะไรยากอย่าไปคิดว่าเด็กจะไม่เข้าใจ เด็กจะมีกลไกในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามวุฒิภาวะ ประสบการณ์ของเขาและตามที่พ่อแม่ป้อนให้เขาด้วย?จะให้ดีพ่อแม่ต้องวางแผน เตรียมสมุดบันทึกสมุดวาดเขียน ถ้าเราชอบภาพนี้อาจไปลองวาดก็ได้ อันนี้ไม่ใช่เฉพาะหอศิลป์อย่างเดียว ที่ต่างๆ ที่พาลูกไป เอากระบวนการทางศิลปะไปใช้ อย่าให้ลูกเป็นผู้ดูอย่างเดียว

การไปวาดตามรูปที่เห็นจะเป็นการบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์เขาไหม
เด็กอยู่ในวัยเรียนรู้ เราต้องมองว่านี่คือวิธีการเรียนรู้ในช่วงของวัยเด็ก ขณะที่เขาชอบภาพของคนๆ นี้เหลือเกิน อย่างผมตอนเด็กก็ชอบภาพของครูเหม เวชกร ชอบภาพของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ก็พยายามที่จะเลียนแบบ แต่เราสามารถเลียนแบบได้เหมือนไหม ไม่เหมือนหรอกเพราะว่ายังเป็นเด็ก แต่นั่นคือความประทับใจที่พยายามทำงานออกมาให้ได้ให้เหมือนกับฮีโร่ของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คือการวิเคราะห์ เอ๊ะ สิ่งนี้ทำยังไง ในทางศิลปะเขาเรียนการทำรีเสิร์ชอย่างดีนี่เอง เพราะว่าศิลปินยิ่งใหญ่ของไทยหลายคนอย่างอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านก็ทำรีเสิร์ชภาพจิตรกรรมฝาผนัง งานศิลปะในแนวสากลท่านก็เยี่ยมมาก แต่สุดท้ายท่านก็วกกลับมาศึกษาศิลปะไทยรีเสิร์ชว่าศิลปินรุ่นก่อนเขาทำงานกันอย่างไร ลงลายเส้นยังไง ระบายสียังไง พอวิเคราะห์ก็จะเกิดการหยั่งรู้และค้นพบ พอค้นพบแล้วเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำงานซ้ำเดิม ขณะที่เราเรียนรู้ไป เราโตขึ้น ความคิดมากขึ้น ความเป็นตัวของตัวเองมีมากขึ้น ฉะนั้นต้นแบบก็วางเอาไว้บนหิ้งถือเป็นแม่แบบ เด็กชอบอะไรแล้วเลียนแบบไม่เสียหาย เพราะศิลปินในยุคนั้นสภาพแวดล้อมเขาอย่างหนึ่ง แต่เด็กยุคหลังสภาพแวดล้อมคนละอย่างกัน ข้อมูลต่างๆ ที่รับรู้มาก็จะเป็นตัวผลักดันให้เด็กคนนั้นสร้างสรรค์งานที่ต่างจากต้นแบบ เด็กรุ่นใหม่ก็อาจจะไปได้เร็วขึ้นเพราะความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยี ที่สำคัญพ่อแม่รุ่นใหม่จะเห็นความสำคัญ?พาเด็กไปหอศิลป์เหมือนไปเที่ยว พ่อแม่ก็ต้องรู้ปฎิกริยาของเขา ต้องดูด้วย อย่าคิดว่าเราพาลูกไปดูส่วนเรากำกับลูก ไม่ใช่ พ่อแม่ต้องดูแล้วพยายามเพลิดเพลินไปด้วย ที่ต้องใช้คำว่าพยายามเพราะพอพ่อแม่อยู่กับลูกแล้วก็มัวแต่ไปคาดหวังกับลูก ส่วนตัวเองได้ดูหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าไปทั้งพ่อและแม่ก็คุยกันแลกเปลี่ยนกัน เราอาจจะสังเกตปฏิกริยาว่าลูกสนใจไหม พอลูกเบื่อก็เริ่มถอยออกมา