แม่สะเรียง 3 หมอก ไหลออกสาละวิน

แม่สะเรียง 3 หมอก ไหลออกสาละวิน

ร่ำลาจากอช.แม่เมยด้วยความคิดถึง ข้างหน้านั่น…ทางหลวงหมายเลข105 ยังคงทอดยาวให้เราได้เดินทางกันต่อไป ระยะทางราว 100 กว่ากิโลเมตร ต่อให้เป็นคนไม่รักธรรมชาตินัก ก็ต้องพากันเงยหน้าจากการหาของหรือส่งความรู้สึกให้กันผ่านทาง 4G และหันไปชื่นชมกับต้นไม้ สายลม และแสงแดดสองข้างทางแทน เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

เด็กๆ อาจจะโดนสะกดจิตจากเส้นทางคดโค้งให้หลับไป (อย่าว่าแต่เด็กเลยค่ะ ตัวแม่นี่หลับตั้งแต่ 2 กิโลแรกแล้ว) แวะจอดรถซื้อผักผลไม้ราคาแสนถูกที่ชาวบ้านนำมาขายกันในเพิงเล็กเพิงๆ ริมทาง ทุกเพิงที่เราแวะ แม่ค้าพูดไทยไม่ได้เลย ถึงแม้จะพูดกันคนละภาษาแต่ยิ้มไปยิ้มมาก็เข้าใจกันเองแหละ

พอเริ่มเห็นทุ่งนาขั้นบันได หรือทุ่งนาสีสวยๆ ก็แสดงว่าเข้าเขตแม่สะเรียงแล้ว (เป็นที่น่ายินดีสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการเมารถเป็นอย่างยิ่ง) แม่สะเรียงเป็นอำเภอเล็กๆ ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะใช้เป็นทางผ่านหรือแวะพักเพื่อไปเที่ยวที่อื่นๆ ต่อในแม่ฮ่องสอน ภาพคุ้นตาที่เคยมาเห็นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว วันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ เราจะได้เห็นบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้เก่าแก่ มีคุณตาคุณยาย นั่งเพลินกันอยู่หน้าบ้าน ร้านค้าหรือรีสอร์ทที่สร้างขึ้นใหม่ก็มีรูปแบบกลมกลืนไปกับของเดิม แค่พาเด็กๆ เดินเล่นดูดอกไม้ริมรั้วก็แสนจะชื่นใจ จนสงสัยว่าทำไมถึงเห็นที่นี่เป็นแค่ทางผ่านหรือดอกไม้ริมทางไปได้

ตื่นเช้าขี่จักรยานแหวกอากาศเย็นสบายไปตลาดเช้ากันค่ะ พ่อค้าแม่ขายมาตั้งร้านกันตั้งแต่เช้ามืด นั่งชิลซดกาแฟโบราณ เด็กๆ สนุกกับการชิมอาหารหรือขนมพื้นเมืองมีเฉพาะที่นี่ หรือจะซื้อกับข้าวไปรอใส่บาตรให้หัวใจผ่องใสเบาสบายที่ริมทางก็ได้เลย ที่นี่เป็นตลาดเช้าที่สมกับชื่อจริงๆ เพราะพอสายหน่อยตลาดก็วายซะแล้ว (เวลานั้นในกรุงเทพยังเรียกว่าเช้าอยู่เลย) ตกบ่ายไปเดินเล่นที่ถนนคนเดินกัน ซึ่งจะมีทุกวันพุธ ศุกร์ และอาทิตย์ คนที่นี่สุขภาพดีค่ะเพราะเข้านอนกันแต่หัวค่ำ พอ 2 ทุ่มนี่บรรยากาศราวตี 3 ของเมืองใหญ่

มาถึงแล้วต้องไปไหว้พระธาตุประจำเมืองให้ครบทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุจอมมอญ พระธาตุจอมทอง และพระธาตุจอมกิตติ ที่ตั้งอยู่รอบเมืองทั้ง 4 ทิศ หากเป็นเมื่อก่อนถ้าเดินทางมาถึงแม่สะเรียงก็จะได้เห็นพิพิธภัณฑ์แม่สะเรียงเด่นเป็นสง่า ด้วยความสวยงามของเรือนไม้สักรูปแบบไทใหญ่ที่มีหลังคาลดหลั่นเป็นชั้นๆ ประดับด้วยไม้ฉลุลายละเอียดอย่างสวยงาม เป็นที่รวบรวมประวัติความเป็นมา รวมทั้งศิลปะประเพณีซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของแม่สะเรียง น่าเสียดายที่มรดกอันล้ำค่าแห่งนี้ถูกไฟมอดไหม้ไปทั้งหมด เหลือเพียงความทรงจำไว้เท่านั้น

“น่าจะใส่หมวกกันน็อคมาด้วยนะคะแม่” เสียงสาวน้อยดังขึ้นขณะที่พวกเรากำลังโยกตัวไปมาสลับกับหัวโขกกันเป็นครั้งคราวอยู่ในรถที่มุ่งหน้าไปอำเภอแม่สามแลบ ห่างจากอำเภอแม่สะเรียงเพียง 46 กิโลเมตรแต่รู้สึกเหมือนเดินทางมาหลายร้อยกิโลเพราะเส้นทางทั้งเป็นหลุมบ่อและคดเคี้ยว รถที่วิ่งสวนกันก็จะผลัดกันถาม “อีกไกลไหม” พร้อมทั้งทิ้งคำปลอบใจ “อีกนิดเดียว” แลกเปลี่ยนกันไว้ละ

แม่สามแลบตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ที่นี่มีผู้คนอาศัยอยู่ 3 เชื้อชาติ คือไทย พม่า และแขกอินเดีย เมื่อก่อนเคยเป็นจุดการค้าผ่านแดนที่สำคัญ แต่เมื่อเกิดปัญหาชายแดนก็เลยซบเซาไป ทั้งหมู่บ้านยังคงมุงหลังคาด้วยใบตองตึงซึ่งว่ากันว่าทนทานมากๆ เพราะใช้มาตั้งแต่รุ่นปู่มาถึงรุ่นหลาน มาถึงที่นี่ก็ต้องล่องเรือไปตามแม่น้ำกันล่ะค่ะ อัตราค่าโดยสารจะกำหนดไว้ชัดเจน เราเลือกเส้นทางแม่สามแลบ-สบเมย ราคาเหมาลำไปกลับ 1,400 บาท

เรือหางยาวพาเราล่องไปตามสายน้ำที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของไทยและพม่า แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดจากภูเขาในประเทศทิเบต ผ่านวันเวลาและป่าเขามาเรื่อยๆ จนเป็นแม่น้ำที่กว้างและลึก แล้วมารวมกับแม่น้ำเมยที่อำเภอสบเมยอันเป็นจุดหมายของเราในวันนี้

หมู่บ้านสบเมยเป็นหมู่บ้านที่สงบและเงียบ ชาวบ้านยังคงทำอาชีพเกษตรกร มีร้านค้าเล็กๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (เด็กๆ แซวกันว่าเป็นเซเว่นของที่นี่) หลังจากเดินเล่นในหมู่บ้านให้พอได้เหงื่อแล้วก็พากันมาเล่นน้ำเล่นโคลนกันที่ริมฝั่ง เด็กๆ ในหมู่บ้านเห็นมีเพื่อนใหม่ก็วิ่งกรูเข้ามาเล่นด้วย

แม่น้ำสาละวินยังคงเดินทางไปเรื่อยๆ เพื่อไปยังจุดหมายที่ทะเลอันดามัน แม่อย่างฉันก็มีจุดมุ่งหมายอยู่หลายอย่าง (รู้สึกส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จนะ) จุดหมายอย่างหนึ่งที่ไม่เคยลบไปจากความตั้งใจก็คือ พาลูกๆ ออกเดินทางไปยิ้มและหัวเราะให้ทั่วเมืองไทย

ที่ตั้ง

แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน
พิกัด N18.159508 E97.928292

แม่สามแลบ อ.สาละวิน แม่ฮ่องสอน
พิกัด N17.981712 E97.738083