นั่งคุยกับครอบครัวเบิกบานบุรี คืนวิถีสู่ธรรมชาติ

?ถ้าถามว่าเบิกบานบุรีทำอะไร คงตอบง่ายๆ ว่าเราอยากชวนคนมาใช้ชีวิต กินอยู่แบบเรียบง่าย ไม่ต้องมีอะไรมากมายก็มีความสุขได้?
คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวคงเคยปรึกษากันว่า ?ลูกเราชักจะติดทีวี ติดเกมมากไปหน่อยแล้ว? แต่จะทำอย่างไรกันดีล่ะคะ เมื่อเราเองอาศัยอยู่ในสังคมเมือง หน้าที่การงานของเราก็ทำให้ต้องพึ่งเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งทีวี อินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟนและแทบเล็ต จะมีกี่ครอบครัวกันที่ลงมือแก้วิกฤตความต้องการบริโภคอย่างเกินจำเป็นของเด็กอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ ว่า ปิดทีวี ปิดมือถือได้แล้วลูก ผ่านไปอีก 3 ชั่วโมงลูกก็กลับมานั่งจ้องจอเหมือนเดิม

TWK อยากพาผู้อ่านมารู้จักครอบครัว ?ธนพัฒนากุล? ที่ประกอบไปด้วยพ่อไก่ (คุณธีรศักดิ์) แม่จา (คุณจารุวรรณ) น้องนีร อายุ 9 ปีและน้องภาม อายุ 7 ปี ครอบครัวนี้มีลงมือปฏิบัติเพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง จากที่น้องภามตอนอายุ 4 ปีเคยลงไปนอนร้องไห้จะเป็นจะตายเพียงเพราะอยากได้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ วันนี้น้องภามกลายมาเป็นผู้ช่วยตัวเอ้ในการจัดกิจกรรมค่ายสำหรับเด็กที่เบิกบานบุรี แล้วยังบอกคุณแม่ว่าเกมในแทบเล็ตนี่ไม่เห็นสนุกเลย ไปประดิษฐ์ ของเล่นเองดีกว่า น่าเสียดายที่พ่อไก่ ซึ่งเป็น Worldwide Co-Chairman ของ Creative Juice World Group และเป็นกำลังสนับสนุนคนสำคัญไม่ได้ให้สัมภาษณ์ด้วย เพราะต้องเดินทางไปเป็นวิทยากร รับเชิญต่างประเทศพอดี แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ได้ข้อมูลจนเห็นภาพอย่างชัดเจนทีเดียว

ขอถามถึงประวัติการทำงานของแม่จาก่อน

พี่จบนิเทศฯ แล้วทำงานอยู่ลีโอเบอร์เน็ต 6 ปี ตำแหน่ง Account Manager แล้วไปเรียนต่อที่อังกฤษ ปริญญาโทบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ คู่กับทำ IMC (Integrated Marketing Communication) พอกลับมานี่ชีวิตก็พลิกผันมาก ลูกค้าที่สนิทกันอยู่ปตท.แผนก IT อยากได้คนที่อยู่นอกวงการก็เลยชวนไปทำ มาอยู่วงการไอทีซึ่งเป็นจุดพีคที่ทำให้มาทำบริษัทตัวเอง ตอนกลับมาเป็นช่วงฟองสบู่แตก บริษัทพี่เป็นบริษัทแรกๆ ที่เลย์ออฟ เราอยู่ตำแหน่งผู้บริหารต้องเลือกคน เป็นทุกข์มากเหมือนด้วยมือเราที่จะตัดสินคน รู้สึกว่ามันไม่ใช่วิถีแต่ก็ทำไป คิดว่าเดี๋ยวคงดีขึ้น แต่สองปีต่อมาบริษัทก็เทคโอเวอร์อีก เรารู้สึกไม่ไหวทำไปก็เครียด พอดีอยู่ในจุดที่พีคของการทำงาน มีกระแสต้านเยอะว่าจะออกมาทำไม แต่เพราะเรามีลูกแล้วต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯบ่อยๆ แล้วจะดูแลลูกยังไง งานมันเครียดขนาดนี้ ไม่ไหวก็ออกมา

จุดเริ่มต้นของเบิกบานบุรี

ตอนนั้นสนใจเรื่องการศึกษา แล้วก็มาเป็นคอลัมน์นิสต์ด้วยเขียนเกี่ยวกับพาลูกเที่ยวอะไรอย่างนี้ แล้วก็ทำเวิร์คช็อปตอนแรกก็คือเราไปพูดในเวทีที่มีรัฐมนตรีอยู่ แล้วคงไปโดนใจผอ.ที่ทำเรื่องแนวนี้ เค้าก็เชิญเราให้เขียน proposal ส่ง ปรากฏว่ามาจุดนึงที่ถึงขั้นเรื่องเงินก็กลายเป็นว่า ระบบราชการต้องมีกระบวนการรอนู่นนี่นั่น มีเอกสารที่เราไม่ถนัด เสนอทีเป็นปีสองปี สุดท้ายทุกคนถอยกันหมดเพราะเจอระบบแบบนี้ ตรงนั้นก็เลยเป็นจุดนึงที่ทำให้รู้สึกว่า นี่ขนาดเค้าเชิญเราไปนะเนี่ยมันยังยากขนาดนี้ งั้นเราก็กลับมาทำอะไรที่ง่ายๆ ของเราเองแล้วกัน ตอนนั้นน้องนีรเริ่มเข้าโรงเรียนแล้วอยู่แถวบ้าน นีรเป็นนักเรียนรุ่นแรก เด็กมีอยู่ไม่กี่คน ผู้ปกครองรุ่นเราก็สนิทกันทุกคนก็ช่วยโรงเรียน เราถนัดทำแผนเราก็ช่วยพวกกิจกรรมอะไรอย่างนี้ แล้วตอนนั้นมีการตั้งสารพัดก๊วน ก๊วนชวนเที่ยว ก๊วนทำดี พาเด็กและครอบครัวไปทำบุญ เป็นกิจกรรมที่พากันท่องเที่ยว ควบคู่กับการทำ proposal ขอเอกชน

เดิมทีหน่วยงานตอนนั้นเค้ามีเงิน incentive ให้เซลล์ ดีลเลอร์ หรือพนักงานไปช็อปปิ้งต่างประเทศ เราก็ propose เข้าไป 2 ปีนะกว่าจะได้เงิน เค้าให้ทำเป็น unplug family trip แบบเช้าไปเย็นกลับ จุดประสงค์ที่เสนอไปก็เป็นเรื่องของเด็กก่อนที่จะเข้าไปสู่ระบบโลกออนไลน์ อยากให้มีการเป็นอยู่แบบชีวิตบนโลกจริงที่ไม่ต้องพึ่งพาอะไรพวกนี้เยอะ เราแยกกิจกรรมผู้ใหญ่กับเด็ก เด็กไปทำงานศิลปะ ผู้ใหญ่ก็ทำกิจกรรม แล้วก็มีกิจกรรมรวมกัน เด็กบางคนเป็นคุณนายจ๋าไม่ยอมตากแดด สุดท้ายตอนจะกลับเค้าก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ลูกค้าบอกว่าเป็นการทำมาร์เก็ตติ้งที่ได้ใจทั้งครอบครัว เพราะปู่ย่าตายายเค้าก็มาได้จากปกติ incentive ไปได้แค่คนเดียว ซึ่งมันก็พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิดเนี่ย จริงๆ แล้วมันเข้าถึงคนได้

จากก่อร่างสร้างตัวจนสมบูรณ์ถึงวันนี้ 5 ปี

พอเริ่มทำไปหนึ่งปี ลูกเราก็ไปที่เดิมกิจกรรมเดิม เด็กเค้าก็รู้สึกว่ามันต้องมีที่ทางให้เค้าพักผ่อน ซึ่งมันไม่ใช่ที่ของเรา พอเราจะขอที่ทางสำหรับเด็กเค้าก็ไม่ค่อยสะดวก ก็ไล่หาที่ จะซื้อแถวลาดพร้าวแต่ราคาที่แพงมาก จนวันนึงที่ตัดสินใจว่าจะซื้อแล้วเค้าก็ขึ้นราคาอีก ไปดูแถวพุทธมณฑลก็แบบเดิม พอจะเอาก็ขึ้นราคา เวียนอยู่หลายปี บางทีเจอปัญหาชุมชนมียาเสพติดบ้างก็ไม่ไหว พี่ไก่ไปทำเวิร์คช็อปแถวทางไปวังน้ำเขียว ช่วงหน้าหนาวอากาศดี เป็นจุดเริ่มต้นให้หาที่แถวเขาใหญ่ สุดท้ายก็ได้ที่ 10 กว่าไร่ติดเขา ไปเห็นมีน้ำก็เลยถามซื้อที่แถวนั้น ทางเข้าเล็กมากต้องผ่านหมู่บ้าน คนที่ขายให้เราเค้าเป็นหมอ เลือกเพื่อนบ้าน เราก็บอกเค้าว่าจะเอามาทำเกี่ยวกับเด็ก มันมีเสียงนะเค้าทนได้มั้ย เค้าก็บอกว่าได้ หมอก็ชวนเราทำทางขยายถนน เพราะตอนแรกที่มันรกมาก ยังมองไม่เห็นน้ำเห็นอะไร เนื่องจากมันต้องเข้าหมู่บ้านมีเด็กเยอะ เรารู้สึกว่ามาทำความลำบากให้เค้า เพราะเรามามันก็มีรถ จากเดิมเค้าเคยวิ่งเล่นกลางทุ่งนาก็ทำไม่ได้ เราก็มาเช่าห้องอยู่ซอยตรงข้าม แล้วหิ้วกระเป๋าไปกับลูกไปสอนเด็กในหมู่บ้าน ทำกิจกรรมทำเกษตรอยู่หลายเดือน จนงานก่อสร้างมากขึ้นเริ่มผิดนัดเด็ก ทีนี้ไปเดินจตุจักรเจอน้องคนนึงวาดรูปขาย เลยบอกเค้าว่าอยากหาครูไปสอนเด็กในหมู่บ้าน มีค่าตอบแทนให้แต่น้อยนะ อยากให้มาช่วยเพราะทำคนเดียวไม่ไหว คุยไปคุยมาเค้าก็บอกว่าไม่เอาเงิน ขอแค่มีที่พัก มีรถรับส่ง แล้วเค้าก็ไปตามเพื่อนมาทำค่ายสอนเด็ก 3 วัน 2 คืน ตอนทำค่ายวันสุดท้ายจะมีกิจกรรมกลางคืน มีบายศรี หุ่นกลางแปลง เด็กๆ ก็มากัน บางคนเป็นเด็กแว้นหรือมอมแมม ทุกคืนจะมีกิจกรรมที่ทำให้เค้าได้กลับมาอยู่กับใจตัวเอง มีครูที่เป็นอิสลามนำแผ่เมตตา โอบกอดเด็ก วันต่อมาเด็กๆ พวกนี้ก็แต่งตัวสะอาดมาเลย เพราะครูบอกว่าครูมาด้วยความตั้งใจ เด็กๆ ก็ต้องตั้งใจ ทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ จากที่พูดจาแย่ กลายเป็นเด็กที่อ่อนนิ่มไปเลย วันที่ครูจะกลับก็ร้องไห้

เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งเล็กๆ ที่เราให้เด็กได้ มันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง สิ่งที่ได้คือลูกเราได้เห็นว่าเค้ามีมากกว่าเด็กคนอื่น ในขณะที่เด็กคนอื่นมีน้อยกว่า แต่เค้าก็มีความสุขง่ายๆ อย่างศิลปะที่เราให้ครูพาทำ โจทย์อย่างนึงที่เราขอคือทำยังไงก็ได้ให้เค้ารักบ้านเกิด และไม่อยากมีชีวิตแบบคนเมือง อย่าให้เค้าทิ้งถิ่นฐานออกไป ที่เหลือจะทำอะไรก็ได้แล้วใช้วัสดุในบ้านเค้าดีที่สุด ครูก็พาไปเอาเม็ดผักปรัง ขมิ้น มาทำเป็นสีวาดรูป เด็กฝีมือดีมาก เราก็ทำน้ำยาชีวภาพอะไรไปขายได้เงินมาทำค่าย สิ่งที่ลูกได้คือสังคมที่มีความต่าง ไม่ต้องมีเยอะก็มีความสุขได้ เด็กพวกนี้เป็นคนสอนลูกเรื่องวิธีการเล่น เช่นเอาหญ้ามาดึงมันจะพุ่ง มีใบไม้หล่นมาปุ๊ปตบเป็นลูกโป่ง มีใบสบู่ดำเอามาตีๆ เป่าฟองเป็นลูกโป่ง ไม่ต้องไปซื้อ ซึ่งนี่คือกระบวนการที่ลูกได้เห็น ไม่ใช่ว่าเราให้เค้าอย่างเดียว เค้าให้เรากลับมาด้วย เด็กบางคนตัวเล็กแต่ต้องทำกับข้าวแล้ว บางคนปิดเทอมต้องออกไปรับจ้างทำงาน น้องเค้าก็ได้เห็นว่าตัวแค่นี้รับผิดชอบชีวิตขนาดนี้แล้ว ต้องช่วยครอบครัว ในขณะที่พวกเราแง้วๆ ไปมา

กิจกรรมที่เบิกบานบุรี

ถ้าถามว่าเบิกบานบุรีทำอะไร เราคงตอบง่ายๆ ว่าเราอยากชวนคนมาใช้ชีวิต กินอยู่แบบเรียบง่าย ไม่ต้องมีอะไรมากมายก็มีความสุขได้ ในไร่เราไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรนอกจากพัดลมตัวเดียว ความบันเทิงของเราก็จะมีเล่นละครเงากันเอง มีตะเกียงเจ้าพายุ บริบทที่เราทำจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ปลูกผัก ปลูกข้าว ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นเคมีแต่เราไม่ใช้ เพลี้ยมันก็จะรุมทึ้งเราน่ะ คนที่ไร่ก็หมดกำลังใจอยากใช้ เราก็บอกว่าไม่ต้องใช้ ค่อยๆ เรียนรู้กับมันไป เห็นปลูกข้าวอย่างนี้มีหญ้าขึ้น เค้าอยากใช้ยาฆ่าหญ้า เราก็บอกว่าผลผลิตเป็นเรื่องทีหลัง เราเรียนรู้ก่อน สิ่งที่เราทำก็จะเป็นเรื่องวิถีชีวิต แต่เรื่องอาหารเวลาคนมาเราก็ไม่สามารถเอาอาหารในไร่ไปรับรองได้นะ เพราะมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น

เรื่องแมลงรบกวน สิ่งที่เราทำได้คือปลูกแนวต้นไม้เป็นแนวรอบไร่ เราจะปลูกไผ่ ปลูกกล้วย ปลูกหมาก กันทางลมเวลาฉีดเคมีจะไม่เข้าไร่เรา แมลงก็พยายามปลูกดอกไม้ กุ้ยช่ายสลับกัน เพื่อให้เกิดสมดุลแต่มันก็ยังไม่พอ ทุกวันนี้ที่เจอจะเป็นเรื่องหอยมากกว่า ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เจอก็คือหยิบออกหรือไม่ก็ดูว่าอันไหนหอยไม่กินก็ปลูกอันนั้น อย่างบวบ ถั่วพู ถั่วฝักยาว มะเขือ แตงกวา เราก็ปลูกไปก่อน แต่พวกผักตลาดจะปลูกยาก ตอนนี้ผลไม้ก็มีมะเฟือง มะม่วง กล้วย

เราใช้ปุ๋ยชีวภาพ เวลาที่คนมาเยอะๆ มีเศษอาหารก็จะหมักจุลินทรีย์ ไปเรียนจากโครงการในหลวงน่ะค่ะ มีเศษอาหารปุ๊บฝังกลบทิ้งไว้ จากกล้วยลูกแค่นี้เป็นแค่นี้ค่ะ (ทำมือประกอบ) คอนเซ็ปต์ของเกษตรธรรมชาติคือไม่มีขยะนะคะ ทุกอย่างคือกลับมาเป็นของดีหมด อย่างปลูกข้าว เดิมทีเราอยากให้มันสวยตลอดก็ปลูกสองรอบ แต่ที่เดิมติดคลอง 200 เมตรเข้าใจว่ามันเป็นทรายทับถมกันนะ ไม่กักน้ำ แถมสูงกว่าตลิ่ง ที่ผ่านมาเราทำระหัดวิดน้ำ เพื่อน้ำเข้านาโดยไม่ใช้ไฟฟ้า พยายามใช้พลังงานทางเลือก แต่ปรากฏว่าหน้าแล้งเอาไม่อยู่ เราก็ต้องเรียนรู้จากมัน คนที่มาก็จะอยากเห็นข้าวตลอดเวลา แต่เราก็บอกว่าต้องเข้าใจว่าธรรมชาติมันเป็นแบบไหน เราเอาจากธรรมชาติมากเกินไป

คนที่มาร่วมเวิร์คช็อปได้อะไรกลับไป

อย่างเด็กมหาวิทยาลัยที่ได้รับเลือกให้ทำงานในองค์กรมาเวิร์คช็อป เค้าก็จะมาด้วยความรู้สึกแข่งขัน เป็นศัตรูกัน แต่เราก็มีกิจกรรมให้ใช้ชีวิตเรียบง่าย ทำอาหารด้วยกัน แล้วก็ชวนเค้ากลับมาดูว่าสมองของเราทำงานยังไง ใจของเราทำงานยังไง ความคิดของเราทำงานยังไง คนในยุคเราคิดเก่ง แต่ปัญหาคือหยุดคิดไม่ได้ ทำให้มนุษย์ต้องใช้ยากับโรคเครียด นอนไม่หลับ โรคหัวใจ ที่สำคัญคือเรื่องการสื่อสาร เพราะทุกวันนี้คนเราฟังไม่เป็น ยิ่งโตยิ่งฟังไม่เป็น เคยมั้ยที่พูดอะไรแล้วคนตอบกลับมาเหมือนเค้าไม่ได้ฟังเราเลย หรืออย่างบางทีลูกพูดเราเองก็ไม่ฟัง เพราะเรามีความคิดของเราอยู่แล้วว่าต้องแบบนี้ การฟังเหมือนเป็นทักษะที่คนเรามีมาแต่เกิด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เราลืมที่จะฟังจริงๆ ถ้าเราฟังจริงๆ บางคนที่เราไม่ชอบ เรารู้ว่าเค้ามีทุกข์ก็จะเกิดความเห็นใจมากขึ้น ความแตกแยกมันจะลดลง ก็เลยมีช่วงเปิดใจ

บางครั้งทำค่าย 8 วัน พ่อแม่ผลัดกันมาเป็นอาสาสมัครสอนลูก ใครถนัดเรื่องอะไรก็สอนเรื่องนั้น ถนัดวิทย์ก็สอนบำบัดน้ำเน่า แม่บางคนซื้อเครื่องสีข้าวมาเลย สองวันสุดท้ายไปเดินป่า ขึ้นเขาใหญ่ ให้เด็กหุงข้าว ทำกับข้าว ติดเตาถ่าน ซักผ้า ทำน้ำยาใช้เอง พาไปทำกิจกรรมกับเด็กในหมู่บ้าน ตอน กลางคืนก็พูดเปิดใจ เพราะเด็กไม่เคยอยู่ด้วยกัน ยิ่งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กสุดก็อนุบาล 3 โตสุดก็ม.1 ผู้หญิงกับผู้ชายเล่นไม่เหมือนกัน บางทีก็ค้างคาใจ ก็มีกระบวนการที่ให้เค้าให้อภัย นอกจากนั้นก็ให้ขอบคุณ เค้าอยากขอบคุณใคร จากที่ไม่เคยรู้เบื้องลึกของอีกกลุ่มว่าคิดยังไง เมื่อก่อนเด็กผู้ชายผู้หญิงเที่ยวแยกกัน เดี๋ยวนี้มีอะไรเค้ายินดียื่นมือเข้ามาช่วย เมื่อผิดก็ยืดอกรับ จากเมื่อก่อนที่โทษคนนั้น โทษคนนี้

ที่ผ่านมามีอุปสรรคหนักหนาสาหัสแค่ไหน

เราเจอภัยธรรมชาติอยู่หลายรอบ รอบที่หนักที่สุดคือปี 53 คือตอนแรกเราไม่ได้กะจะมีห้องพัก มีแค่เต็นท์แต่ทำไปทำมาก็เจอปลวก เจอมอดกิน เพิ่งทำไปได้ 3 เดือนเองนะ ด้วยความที่เราทำงานในเมือง ใจร้อนและไม่ได้เข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นบทเรียนว่าแบบนี้ไม่ได้ เราก็เริ่มทำแท่นขึ้นมาเป็นแท่นกางเต็นท์ ปรากฏว่าปีนั้นเขาใหญ่ฝนตก 8 เดือน กางเต็นท์อยู่ไม่ได้ ก็เลยต้องทำที่พักและอาคารเพื่อทำเวิร์คช็อป อย่างอาคารแรก คนมาเป็นร้อยมันรองรับไม่ได้ก็ต้องสร้าง พอก่อสร้างใกล้ๆ จะเสร็จก็เจอปัญหาหนักสุดคือภัยธรรมชาติ ทางยาว 200 เมตรที่ติดตลิ่งเนี่ยเราทำ tracking ให้เด็กเดินเพื่อศึกษาธรรมชาติริมน้ำ มีต้นไม้ใหญ่ที่มันโตมาเองตั้งนานแล้ว ปรากฏว่าน้ำเซาะหมดเลยถอนรากถอนโคน

ช่วงก่อนน้ำท่วมดีไซเนอร์ที่ทำงานด้วยก็หัวใจวาย เราก็ต้องรับผิดชอบชีวิตเค้า พาไปส่งโรงพยาบาล เงินติดตัวก็มีไม่กี่ร้อยเพราะจ่ายค่าก่อสร้างไปหมดแล้ว กดเอทีเอ็มเหลืออยู่บาทเดียว ชีวิตมันจะอะไรขนาดนี้ กลับมาเจอน้ำท่วม ช่างที่รับปากว่าจะเสร็จก็ไม่เสร็จ พี่ต้องทำทุกอย่างเอง สอนเอง ทำเวิร์คช็อปเอง วันนั้นแบบขาดเลย พี่ไก่เดินมาพูดประโยคนึงว่า ?อันนี้พร้อมรึยัง? เค้าแค่พูดธรรมดา แต่วันนั้นเราปรี๊ดแตกแล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเกิดอะไรกับชีวิตเรา นี่เป็นงานที่เราคิดว่าเราทำแล้วเราจะมีความสุขที่สุดไม่ใช่เหรอ เราชื่อเบิกบานบุรีไม่ใช่เหรอ แต่ก็ตั้งสติแล้วออกไปรวบรวมของ เพราะของที่พี่จะสอนตามฐาน มันยังวางไม่ได้เพราะก่อสร้างยังไม่ออก ตีสามยังนั่งไล่ช่างอยู่ อบรมวันสุดท้ายจะมีให้พูดเปิดใจว่ามาแล้วมีความรู้สึกยังไง โดยรวมเค้าก็จะบอกว่าประทับใจ นี่ล่ะคือวิถีชีวิตที่เค้าอยากให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัสมากกว่าสังคมบริโภคในเมืองที่มีแต่เดินห้างอะไรพวกนี้ แล้วก็มีผู้ปกครองคนนึง บอกว่าขอโทษนะ ผมขอพูดตรงๆ ที่นี่ชื่อเบิกบานบุรีใช่มั้ยครับ แต่ทำไมหน้าตา คุณจาดูเป็นทุกข์มากเลย เรายกมือไหว้ขอบคุณเลย เล่าให้ฟังว่าเราทำตรงนี้ด้วยความตั้งใจ หลายอย่างเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย เกือบถอดใจไม่ทำแล้วจะขายทิ้ง แต่พอคนมาก็เกิดกำลังใจ

เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวลูกบ้าง

วันเด็กมีคนบริจาคเงินให้ไปซื้อของ ปกติเวลาไปซื้อของเยอะๆ จะไม่พาลูกไป เพราะรู้ว่าเดี๋ยวสติแตก แต่วันนั้นเลี่ยงไม่ได้ก็พาไปแม็คโคร แผนกของเล่น ทีนี้ภามเค้าเห็นก็จะชอบ อยากได้ พอซื้อมาก็จะแบบ อันนั้นไม่ให้ อันนี้ไม่ให้ เราก็จะบอกว่า ภามไม่ใช่นะลูก อันนี้เป็นเงินที่ป้าๆ พี่ๆ เอามาให้ซื้อ ภามจะเอาก็ได้ แต่ต้องเลือกแค่ชิ้นเดียว เค้าก็บอกว่าตอนเอาลง ภามก็จะไม่ให้แจก

พอเอาลงมีคนช่วยเยอะๆ ภามก็ลงด้วย กลัวลูกจะกรี๊ดๆ ต่อหน้าคนอื่นเหมือนกัน แต่เค้าก็เดินมาแล้วเริ่มช่วยแจก แล้วเค้าก็ยิ้ม เพราะเค้าไม่เคยเห็นเด็กบางคนที่ไม่เคยได้ของเล่นเค้าดีใจ ภามก็ยิ้ม สุดท้ายพี่ก็ถามว่าภามรู้สึกยังไง เพราะตอนแรกภามจะเอาไว้ทั้งหมดคิดว่าจะทำให้มีความสุข เค้าก็บอกว่าใช่ แต่ตอนนี้ภามรู้แล้วล่ะว่าการให้ของคนอื่นเล่นก็ทำให้มีความสุขที่มากกว่า พี่แทบน้ำตาไหล เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถสอนลูกด้วยคำพูด แต่เค้าต้องเห็นด้วยการกระทำและเค้าต้องคิดด้วยตัวเอง นั่นเป็นจุดนึงที่พี่รู้สึกว่าสิ่งที่เราฝากเมล็ดไว้กับเค้ามันคุ้มกับสิ่งเราทำ

ภามเค้าเป็นที่มี 2 ภาคนะ พอมาอยู่เมืองเค้าก็ยังชอบ แต่พอไปอยู่ที่นู่นก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข เค้าจะรู้ว่าตรงไหนเป็นที่เล่นเค้า มีอยู่ช่วงนึงที่ล้ามากๆ เค้าก็ไม่อยากไป เราก็พูดเล่นๆ ว่าที่ทำนี่ทำเพื่อครอบครัว ถ้าหนูไม่อยากไป ก็ไม่มีประโยชน์ งั้นขายดีมั้ย เค้าก็บอกไม่ขายๆ ภามรักเบิกบานบุรี ภามจะทำ ทุกวันนี้เค้าก็พูดอยู่นะ

แม้เป็นเพียงบทสัมภาษณ์ฉบับคัดย่อเนื่องจากพื้นที่อันจำกัด แต่เราเชื่อว่าถ้อยคำเพียงไม่กี่หน้าของแม่จาได้สร้างข้อคิดและแรงบันดาลใจให้คุณพ่อคุณแม่อีกหลายคน เบิกบานบุรีอาจจะไม่ได้จัดเวิร์คช็อปเป็นล่ำเป็นสันแบบธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไป เพราะขับเคลื่อนด้วยพลังใจกับสายใยรักของครอบครัวเท่านั้น แต่ก็ยินดีให้คำปรึกษาหรือความร่วมมือสำหรับครอบครัว โรงเรียนหรือภาคเอกชนที่มีแนวคิดตรงกันเช่นนี้

ข้อมูลติดต่อ

เบิกบานบุรี
95 หมู่ 3 ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง นครราชสีมา
www.burgbarnburi.com