ละครหุ่นสร้างสรรค์รีไซเคิล

“ของที่เป็นขยะของคนๆ นึง อาจไม่ใช่ขยะสำหรับคนอีกคนก็ได้”

พวกเราแม่ๆ คงคุ้นเคยกับการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะรีไซเคิลจากหนังสือเรียน ที่อธิบายไว้ประมาณ 3 หน้าจบ ส่วนเด็กๆ อาจมีความทรงจำระยะสั้นกับประเด็นนี้ แล้วสักพักก็จะเลือนๆ ไป

แต่ที่ประเทศอังกฤษเข้าใจลึกซึ้งถึงการเรียนการสอนเรื่องขยะรีไซเคิลว่า ควรเป็นการปลูกฝั่งนิสัยและจิตสำนึกมากกว่าแค่การเรียนรู้จากตำรา ทำให้คณะละคร Theater Rites ได้จัดการแสดงละครหุ่นจากขยะรีไซเคิล (Recycled Rubbish) พวกเขาเนรมิตขยะไร้ค่าให้กลายเป็นหุ่นมีชีวิต สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ถูกทอดทิ้ง และสร้างความเข้าใจเรื่องขยะรีไซเคิลให้กับเด็กๆ โดยเปิดการแสดงตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศอังกฤษ

ครั้งนี้เราได้มีโอกาสไปชมการแสดงจากงาน BICT Fest 2016 จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะละครใช้การนำเสนอผ่านกระบวนการละครผสมกับการเชิดหุ่น ผู้แสดงต้องมีทักษะทั้งการแสดงและการเชิดหุ่นด้วยแขนและมือของนักแสดงเองให้เป็นอีกตัวละครหนึ่งไปพร้อมๆ กัน เป็นเรื่องราวของคนแยกขยะ หาขยะที่นำไปใช้ได้ไปขายหรือนำไปใช้ทำประโยชน์อื่นได้ต่อ

เริ่มเปิดเรื่องด้วยการสื่อสารให้เห็นว่าขยะที่อยู่ในถุงขยะก็อาจเป็นสิ่งที่สกปรกและอันตรายได้  จึงต้องใส่ชุดกันเปื้อนและฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อโรค ตัวละครถือถุงขยะอยู่ 6 – 7 ใบ แต่ละใบเต็มไปด้วยขยะ จากนั้นเขาก็ค่อยๆ หยิบของออกจากถุงทีละอย่าง ทุกครั้งที่หยิบออกมาก็จะทำให้เด็กๆ ได้ลุ้นกันว่าของสิ่งนั้นจะเป็นอะไร

ของบางอย่างพอนำออกมาก็อยู่ในสภาพสกปรกเลอะเทอะ มีน้ำเหนียวๆ เกาะ ต้องนำน้ำร้อนมาลวกทำความสะอาดก่อน แต่เมื่อสะอาดแล้วก็พบว่า มันคือเจ้าหุ่นเป็ดกระป่องที่มีชีวิตและเป็นเพื่อนเล่นกับเด็กๆ ได้ นักแสดงได้แปลงร่างขยะโดยอาศัยทักษะการเชิดหุ่นมือ ทำให้ขยะ เช่น กระเป๋าหนังเก่าๆ อุปกรณ์เครื่องใช้อลูมิเนียมในบ้าน ถุงมือเก่า และสิ่งอื่นๆ กลายเป็นหุ่นมีชีวิตสื่อสารกับเราได้  เป็นการนำเสนอแนวคิดที่ว่าของหลายอย่างเมื่อเรานำมาทำความสะอาดแล้วก็นำกลับมาใช้ได้อีก

ของบางอย่างที่อาจเป็นขยะไปแล้ว เช่น ถุงมือเก่าๆ แค่นำหัวตุ๊กตามาติด ก็นำมาดัดแปลงเป็นหุ่นมือได้ กล่องกระดาษหรือกระเป๋าเก่าๆ  นำมาทำเป็นฉากหรือห้องให้เจ้าหุ่นมือได้ ดังนั้น ของที่เราคิดว่ามันคือขยะก็อาจจะกลายเป็นของเล่นใหม่ได้  ขึ้นอยู่กับจินตนาการของเราเอง

จบลงด้วยวิธีการแยกขยะตามสีของถุง (ถ้าเป็นบ้านเราก็ตามสีของถัง) และสัญลักษณ์ของขยะรีไซเคิล ขยะพิษกับขยะเปียก โดยนักแสดงจะหยิบขยะแต่ละชิ้นออกมาจากถุงแล้วถามคนดูว่าควรอยู่ในถุงไหน เป็นการปฏิสัมพันธ์กับผู้ดูให้ได้มีส่วนร่วมอีกด้วย

เป็น 50 นาทีของการถ่ายทอดปลูกจิตสำนึกเรื่องการรีไซเคิลอย่างเพลิดเพลินและไม่ยัดเยียด น่าจะนำไปเป็นตัวอย่างสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนของเราบ้าง

ขอบคุณ: BIC Fest 2016
ภาพ: Christan hogue